โครงการเหมืองแร่สีเขียว กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม
หน้าหลัก
 
 

ประวัติความเป็นมาเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining)

กลุ่มที่ปรึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม

ความเป็นมา เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานเป็นกิจการที่มีภาพลักษณ์ในเชิงลบ เมื่อเปรียบเทียบกับ อุตสาหกรรมประเภทอื่น ปัญหาหลัก ได้แก่ การประกอบการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับผู้ประกอบการบางส่วนมิได้ นำหลักวิชาการด้านวิศวกรรมและความปลอดภัยมาดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้การประกอบการขาดประสิทธิภาพ และก่อให้ เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้กระแสสังคมมีความรู้สึกไม่ยอมรับการประ กอบการของภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมพื้นฐาน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้น จากการกำกับดูแลเพียง อย่างเดียวเป็นการดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่างๆ ควบคู่กันไป เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการประกอบการ ที่ดี ซึ่งหากผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐาน จะแทบไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมกำกับดูแลอีกต่อไป จึงได้จัดทำ โครงการกำหนดมาตรฐานสถานประกอบการชั้นดีขึ้นในปี 2547 เพื่อยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยจำแนกเป็น 5 ประเภท ตามกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สถานประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม โรงงานโม่ บด และย่อยหิน และโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์ โดยรายละเอียดมาตรฐานทุกประเภทจะครอบคลุมใน 4 ด้านหลักของการประกอบการ ได้แก่ ด้านการจัดการและคุณภาพการประกอบการ ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และด้านการประสานความร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน โดยได้ทำการคัดเลือก ให้รางวัล และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ได้รับรางวัล นับตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา

ต่อมาในปี 2552 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีนโยบายที่จะยกระดับมาตรฐานของสถานประกอบการที่รับผิดชอบให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อมมาก ขึ้น จึงได้ประกาศนโยบายเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Policy) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 โดยเน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทั้งทางด้านการให้บริการแก่ผู้ ประกอบการ พร้อมๆ กับการสนับสนุนและผลักดันให้สถานประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเปิดโอกาศให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้ การประกอบการเหมืองแร่เป็นไปอย่างยั่งยืนต่อไป

ความหมาย เหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) หมายถึง การพัฒนาทรัพยากรแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมโดยก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและเป็นการพัฒนา ทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับทุกๆ ด้านในการประกอบการเหมืองแร่และกิจกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดี มี ความปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียว มีความโปรงใสในการดำเนินธุรกิจ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าและประหยัด โดยครอบคลุมกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 4 ประเภท ได้แก่ การทำเหมืองแร่ การแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม และการโม่ บด หรือย่อยหิน

 
 

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เลขที่ 75/10 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400