Home webboard โครงสร้างกรม ฯ วัตถุประสงค์ กระดานถาม - ตอบ Login

โครงการฟื้นฟูสภาพพื้นที่บริเวณที่ผ่านการทำเหมืองแร่หิน

อุตสาหกรรมเพื่อปรับทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี

 

      การปรับสภาพและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วถือว่าเป็นมาตรการที่สำคัญมาตรการหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายในการอนุญาตประทานบัตร  ที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการทำเหมือง ตามนโยบายของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในฐานะหน่วยงานอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการเหมืองแร่  ที่เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนทำให้การดำเนินงานด้านการฟื้นฟูที่ทำเหมืองของผู้ประกอบการมีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับการดำเนินการในอดีตที่ผ่านมา  มีการดำเนินงานที่เป็นระบบชัดเจนขึ้นทั้งด้านแผนงาน  กำลังคน  และงบประมาณ  ประกอบกับการกำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และการจัดทำโครงการเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่เข้าร่วมดำเนินงาน อาทิ  โครงการรณรงค์เพื่อการปลูกป่าในพื้นที่ทำเหมือง  โครงการปลูกป่าถาวรในพื้นที่เหมืองแร่  ทำให้พื้นที่เหมืองแร่ทั่วประเทศหลายพื้นที่ได้รับการบูรณะและฟื้นฟู ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงสภาพธรรมชาติ  ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะยาวหลังผ่านการทำเหมืองไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมา  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  จะได้ดำเนินเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วอย่างจริงจังและต่อเนื่องเสมอมา ทั้งในรูปของการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด  และในรูปของการดำเนินโครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้ว

      โดยจัดทำเป็นสวนสาธารณะ  สวนป่าชุมชน  หรือศูนย์วิจัยงานฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วก็ตาม  แต่ก็ปรากฏว่ายังมีพื้นที่เหมืองแร่เก่าที่ถูกทิ้งร้างอยู่อีกมาก  ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่เหมืองแร่ที่อยู่ใกล้เส้นทางสาธารณะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขณะสัญจรผ่านไป - มา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นทางผ่านที่จะไปสู่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ประชาชนใช้เส้นทางนั้น ๆ เป็นจำนวนมาก  ย่อมก่อให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่น่าดู  และก่อให้เกิดภาพพจน์ในแง่ลบต่อการประกอบกิจการเหมืองแร่

 ดังนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  จึงมีนโยบายที่จะดำเนินการปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองสำหรับพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อทัศนียภาพบริเวณเส้นทางท่องเที่ยว  ซึ่งจังหวัดชลบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง  และมีพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองหินตามมาตรา  9  แห่งประมวล

      กฎหมายที่ดินของกรมที่ดิน  กระทรวงมหาดไทย  หลายบริเวณโดยเฉพาะบริเวณเขาบาน  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหนองข้างคอก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรีที่อยู่ใกล้เส้นทางสัญจรสู่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ  ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนจากถนนสายมอเตอร์เวย์ ( กรุงเทพฯ - พัทยา) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  จึงมีแผนที่จะจัดทำโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมในบริเวณนี้  เพื่อปรับปรุงทัศนียภาพให้น่าดู  และยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการดำเนินโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่หินอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั่วไปได้อีกด้วย

 

 

 



กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
กระทรวงอุตสาหกรรม
75/10 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กทม.