Home webboard โครงสร้างกรม ฯ วัตถุประสงค์ กระดานถาม - ตอบ Login

สวนเฉลิมพระเกียรติ  ๘๐  พรรษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ๕  ธันวาคม  ๒๕๕๐

 

การปรับปรุงสภาพและฟื้นฟูพื้นที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้ว  ถือว่าเป็นมาตรการที่สำคัญมาตรการหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายในการอนุญาตประทานบัตร  ที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการทำเหมือง  ตามนโยบายของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  ในฐานะหน่วยงานอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการเหมืองแร่  ที่เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนทำให้การดำเนินงานด้านการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองของผู้ประกอบการ  มีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นเมื่อเทียบการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา  มีการดำเนินงานที่เป็นระบบชัดเจนขึ้นทั้งด้าน  แผนงาน  กำลังคนและงบประมาณ  ประกอบกับการกำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอของ  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  และการจัดการทำโครงการเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่เข้าร่วมดำเนินงาน  อาทิ  โครงการรณรงค์เพื่อการปลูกป่าในพื้นที่ที่ทำเหมือง  โครงการปลูกป่าถาวรในพื้นที่เหมืองแร่  ทำให้พื้นที่เหมืองแร่ทั่วประเทศหลายพื้นที่ได้รับการบูรณะและฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงสภาพธรรมชาติ   ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะยาวหลังผ่านการทำเหมืองไปแล้ว  แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในรอบ  ๑๕  ปี  ที่ผ่านมากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  จะได้ดำเนินเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วอย่างจริงจังและต่อเนื่องเสมอมา  ทั้งในรูปของการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด  และในรูปของการดำเนิน โครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วโดยจัดทำเป็น  สวนสาธารณะ  สวนป่าชุมชน  หรือศูนย์วิจัยงานฟื้นฟูพื้นที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วก็ตาม  แต่ก็ปรากฏว่ายังมีพื้นที่เหมืองแร่เก่าถูกทิ้งร้างอยู่อีกมาก  ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่เหมืองแร่ที่อยู่ใกล้เส้นทางสาธารณะที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน  ขณะสัญจรผ่าน  ไป - มา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นทางผ่านที่จะไปสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ  ที่ประชาชนใช้เส้นทางนั้นๆ  เป็นจำนวนมาก  ย่อมก่อให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่น่าดูและภาพพจน์ในแง่ลบต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่

    ดังนั้น  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  จึงมีนโยบายที่จะดำเนินการปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง  สำหรับพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อทัศนียภาพบริเวณเส้นทางท่องเที่ยวซึ่งจังหวัดกาญจนบุรี  มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่งและมีพื้นที่เหมืองบริเวณภูเขาบ้านลุ่มดงกระเบา  หมู่ที่  ๒  ตำบลปากแพรก  อำเภอเมืองกาญจนบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี  ที่อยู่ใกล้เส้นทางสัญจรสู่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ  ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากถนนและศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี  องค์การบริหารส่วนตำบลปากแพรกจึงได้ร่วมกับ  กรมอุสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  จัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณที่ผ่านการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมบริเวณนี้ขึ้น

    อนึ่ง  เพื่อเป็นการร่วม  เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม  ๘๐  พรรษา  ๕  ธันวาคม  ๒๕๕๐  กระทรวงอุตสาหกรรม  จึงพิจารณาเห็นว่าสมควรเสนอโครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อม  จังหวัดกาญจนบุรี  เข้าร่วมเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ  ในโอกาสมหามงคล  ดังกล่าว  และได้รับการอนุมัติและเห็นชอบจากคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ  สำนักนายกรัฐมนตรี  โดยมีการปรับชื่อใหม่เป็นโครงการ  “สวนเฉลิมพระเกียรติ  ๘๐  พรรษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ๕  ธันวาคม  ๒๕๕๐”

 

 

 

 



กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
กระทรวงอุตสาหกรรม
75/10 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กทม.