Home webboard โครงสร้างกรม ฯ วัตถุประสงค์ กระดานถาม - ตอบ Login
Untitled Document

แหล่งแร่ทองคำที่ตำบลบ่อทอง  อำเภอกบินทร์บุรี  จังหวัดปราจีนบุรี

 

แหล่งแร่ทองคำที่ตำบลบ่อทอง  อำเภอกบินทร์บุรี  จังหวัดปราจีนบุรี  พบครั้งแรกในปี  พ.ศ. ๒๕๑๔  และเริ่มมีการทำเหมืองระหว่างปี  พ.ศ.  ๒๔๑๖-๒๔๒๑  ซึ่งอยู่ในระหว่างช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  ในครั้งนั้นพระปรีชากลกาล  เจ้าเมืองปราจีนบุรี  เป็นผู้ดำเนินการทำเหมืองด้วยวิธีการขุดบ่อ  ซึ่งยังพบร่องรอยของโรงแต่งแร่  เตาหลอม  และบ่อเหมืองทองคำปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ได้แก่  บ่อสำอาง (ซึ่งตั้งตามนามเดิมของพระปรีชากลการ)  ต่อมาได้มีการเปิดการทำเหมืองใต้ดินในระดับลึก  แต่ต้องหยุดไปเนื่องจากจากสินแร่ที่มีความอุดมสมบูรณ์หมดไป  ประกอบกับการทำเหมืองอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่  ๑ 

                หลังจากนั้นกรมโลหะกิจ  (กรมทรัพยากรธรณี  ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในปัจจุบัน)  ได้จักตั้งศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ขึ้น  เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๔๙๓  และได้ผลิตแร่ทองคำอีกครั้งในปี  พ.ศ.  ๒๔๙๓-๒๕๐๐  ได้ทองคำหนัก  ๕๕  กิโลกรัม  ลักษณะธรณีแหล่งแร่บริเวณนี้เป็นแหล่งแร่ทองคำ  ในหินแข็งที่เกิดอยู่ในที่ราบ  ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นแหล่งที่  “ไม่ธรรมดา” การทำเหมืองจึงต้องขุดเป็นบ่อหรือปล่องลงไป

                เนื่องจากประวัติของเหมืองทองคำบริเวณนี้มีความเป็นมายาวนาน  ปัจจุบันยังพบว่ามีร่องรอยอดีตของการทำเหมืองปรากฏอยู่  จึงได้พัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นอนุสรณ์และแหล่งให้ความรู้  เกี่ยวกับประวัติการทำเหมืองแร่ที่สำคัญของไทยแก่คนรุ่นหลัง  ประกอบกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง  ได้ขอความอนุเคราะห์และขอรับการสนับสนุนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  ในการพัฒนาบ่อแร่ทองคำเป็นศูนย์วัฒนธรรม  เป็นที่รวบรวมเอกสาร  วัสดุโบราณ  สิ่งของ  เครื่องมือ  เครื่องใช้เกี่ยวกับ  ประวัติศาสตร์  เกี่ยวกับ  การทำเหมืองทองในท้องถิ่น  และจัดตั้ง  พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคำ  ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้  ตลอดจนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว  ภายในจังหวัด

                พื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำสมัยแรก  (พ.ศ.๒๔๑๕) 

                พื้นที่ที่ยังคงอยู่มีเพียงชื่อและพื้นที่บ่อน้ำ  มีชื่อว่า  “บ่อสำอางค์” ซึ่งเป็นบ่อทองยุคบุกเบิก  อยู่ด้านตะวันตกของพื้นที่บริเวณหลังสวนสาธารณะ  แต่ปัจจุบันไม่มีสภาพเดิมหลงเหลืออยู่  เพราะมีการขยายพื้นที่เดิมเป็นบ่อน้ำเพื่อการชลประทาน

                พื้นที่ทำเหมืองทองคำโดยกลุ่มชาวต่างชาติ  (บริษัท  The Kabin Syndicate of Siam  และบริษัท  Societe  des Mines de kabin)  พ.ศ. ๒๔๔๙  พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ด้าน  อบต.บ่อทอง  ซึ่งมีสันนิษฐานว่าเป็นการทำเหมืองแร่  โดยการขุดเจาะบ่อหมากและบ่อกว้าน  แล้วนำแร่ไปแยกที่โรงตำ  และนำทองคำอมัลกัมมาแยกที่โรงหลอม  ซึ่งลักษณะสภาพพื้นที่การทำเหมืองทองคำบริเวณจุดต่างๆ ยังมีซากสิ่งก่อสร้างปรากกฎในปัจจุบัน  อยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่  และไม่ไกลจากซากเตาหลอม

                พื้นที่ทำเหมืองทองคำสมัยกรมโลหกิจ

                (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓

                พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่อีกด้านหนึ่งของถนน  และเป็นบริเวณใกล้กับบ่อสำอางค์    มีลักษณะเป็นปล่อง  ๒  ปล่อง  คือ  บ่อขี้เหล็ก  บ่อมะเดื่อ  อยู่ไม่ไกลจากโรงตำใหญ่  แต่ในขั้นตอนทดลองช่วงแรก  ใช้โรงตำเหล็กของบริษัทต่างชาติ  ก่อนจะมีการสร้างโรงตำใหม่ในพื้นที่ฝั่งเดียวกับบ่อทั้งสอง 

 

 

 

 

 

 

 



กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
กระทรวงอุตสาหกรรม
75/10 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กทม.